ที่เที่ยวเลย พักกาย พักใจ กับ 10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของ จ.เลย
“จังหวัดเลย” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เขต 1 ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย โดย ที่เที่ยวเลย แต่ละที่นั้นถูกดูแลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จ.อุดรธานี นั่นเอง!
เพื่อนๆเคยได้ยินความหมายของประโยคที่ว่า “เที่ยวสบายใจ ไปสบายดี” ไหม ? ไม่ได้แปลว่า เที่ยวสบายใจ ไปแล้วสบายดี แต่ๆ คำว่า “สบาย” นี้ในที่นี้หมายถึง ชื่อของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน เขต 1 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ นั่นเอง สำหรับทริปนี้เราร่วมทริปไปกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี กับโครงการเที่ยวสบายใจ ไปสบายดี โดยทริปเราในครั้งนี้ เราจะพาไปเยี่ยมชมความงดงามของ 10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมใน จ.เลย รับรองได้ว่าเมื่อใครได้มาเที่ยว ที่เที่ยวเลย ตามรอยเราแล้วล่ะก็ จะต้องตกหลุมรัก จ.เลย นี้ไปตลอดกาล!
เริ่มต้นด้วยการเดินทางไป 10 ที่เที่ยวเลย …
เริ่มต้นทริปด้วยการเดินทาง วันนี้เรามีไฟท์บินเช้าตรู่เวลา 06.45 น. กับสายการบินนกแอร์ ซึ่งจะบินตรงพาเราไปถึงจังหวัดเลย
วันนี้เราเดินทางกับนกสายลม ซึ่งเป็นเครื่องบินใบพัดแบบ ATR 72-500 บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 70 กว่าคน โดยมีพี่แอร์คนสวยที่คอยดูแลพวกเราตลอดระยะเวลาบินจนถึงจังหวัดเลย!
เราใช้เวลาบินแป๊บเดียวเอง ประมาณ 1 ชั่วโมง กับอีก 10 นาทีก็ถึงสนามบินเลย สภาพอากาศวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสมาก เหมาะกับการท่องเที่ยวอย่างที่สุด!
1) ร้านมะกัน – ร้านอาหาร จ.เลย
เมื่อเรารอสมาชิกในทีมรับกระเป๋ากันจนครบ ก็ออกเดินทางกันเลย ที่นี่เรารู้จักกับพี่หวาน เจ้าหน้าที่ ททท. อุดรธานี พี่เขาพารถตู้มารับเราไปกินอาหารเช้ากันก่อนที่ร้านมะกัน
ร้านมะกัน เป็นร้านอาหารเช้ายอดนิยมของเมืองเลย ที่นี่มีอาหารเช้าเป็นไข่กระทะ ขนมปัง ต้มเลือดหมู เครื่องดื่มชงแบบร้อน-เย็น สั่งกันได้ตามใจชอบ แต่สำหรับเรานั้นขอกินไข่กระทะกับขนมปังละกัน รสชาติอร่อยมากนะ มันหอมเนยมากๆ ไข่ยางมะตูมตักกินกับกุนเชียงและหมูสับนั้นเข้าคู่กันได้ดีเลยเชียว!
2) วัดเนรมิตวิปัสสนา – ที่เที่ยวเลย
วัดเนรมิตวิปัสสนา ตั้งอยู่ใน อ.ด่านซ้าย จ.เลย แต่เดิมนั้นวัดนี้เคยมีชื่อว่า วัดหัวนายูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยพระครูภาวนาวิสุทธิญาน หรือหลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ วัดนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักพักพิงให้กับหลวงพ่อมหาพันธ์ฯ เมื่อครั้งที่ท่านออกธุดงค์ไปเรื่อยๆนั่นเอง
เมื่อเดินเข้ามาในวัด จุดแรกที่เราจะเจอก็คือ ศาลาไม้ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าทางเข้า ศาลานี้ถูกสร้างโดยใช้ไม้ทั้งหลัง เมื่อไม้ถูกแสงแดดส่องกระทบจะมันวาวสวยงามมาก บนศาลามีองค์พระให้เราได้กราบนมัสการกันด้วย
เมื่อเดินออกจากศาลาไม้ ก็จะเจอทางเดินขึ้นไปชมพระอุโบสถของวัดเนรมิตวิปัสสนา ซึ่งระยะทางเดินนั้นประมาณเกือบ 200 เมตร
ตลอดทางเดินนั้นจะเป็นขั้นบันไดทั้งหมด ไม่ชันมากเท่าไหร่ บบรยากาศสองข้างทางดีมาก ร่มรื่นและเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด! และเมื่อเดินทางมาจนถึงพระอุโบสถ เราก็จะพบกับซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอย่างสวยงาม!
บริเวณพื้นที่โดยรอบพระอุโบสถนั้น อากาศเย็นสบาย มีการจัดตกแต่งสวนและต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม โดยเฉพาะต้นสาละ ซึ่งปลูกไว้เรียงรายเต็มพื้นที่ของพระอุโบสถ ตามประวัตินั้น ต้นสาละ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงประสูตินั่นเอง!
พระอุโบสถและมณฑปของวัดนี้ ถูกก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง วัดจึงมีความสวยงามอย่างที่เห็น สำหรับตัวพระอุโบสถนั้นมีขนาดใหญ่มาก ถูกตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยศิลปะทางภาคกลาง ถือเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย!
พระอุโบสถของที่นี่ จะมีลักษณะเป็นทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเซรามิก ฝาผนังเป็นศิลาแลง พื้นทางเดินปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูจากแหล่งหินแกรนิตใน จ.เลย และมีประตูหน้าต่างเป็นไม้มะค่าแผ่นเดียวด้วย สวยงามมากจริงๆ
เราเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถกันบ้าง ด้านในพระอุโบสถนั้นกว้างขวางและสวยงามมาก มีองค์พระประธานเป็นปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช จำลองแบบมาจากวัดมหาธาตุฯ ที่ จ.พิษณุโลก
รอบๆผนังของพระอุโบสถ จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายอ่อนช้อยด้วยศิลปะของช่างเขียนชาวด่านซ้าย โดยภาพวาดเหล่านี้ใช้เวลาวาดนานถึง 8 ปี! เป็นภาพวาดเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก และทศชาติ นั่นเอง!
ด้านหลังพระอุโบสถนั้นจะเป็นมณฑปพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ เราจึงเดินออกจากพระอุโบสถมาชมมณฑปพระครูภาวนาวิสุทธิญาณกันบ้าง!
มณฑปแห่งนี้เป็นที่ตั้งของหุ่นขี้ผึ้งของพระครูภาวนาวิสุทธิญาณนั่นเอง ซึ่งท่านเป็นผู้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนสร้างวัดแห่งนี้ตามที่เราเล่าให้ฟังตั้งแต่แรก เมื่อท่านมรณภาพลงแล้ว แต่ร่างของท่านกลับไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันร่างของท่านจึงถูกเก็บอยู่ในมณฑปด้านหลังรูปปั้นของท่านนั่นเอง!
3) ร้านคาเฟ่ ดี มีนา – ร้านอาหาร จ.เลย
ร้านคาเฟ่ ดี มีนา เป็นร้านอาหารของภูเรือนไม้รีสอร์ท หากใครหาชื่อร้านอาหารใน GPS ไม่เจอก็ค้นหาชื่อรีสอร์ทก็ได้เหมือนกัน ตัวร้านอาหารนั้นจะอยู่ติดกับทุ่งนา จึงชื่อว่า ดี มีน่า เพราะร้านติดทุ่งนานี่เอง!
บรรยากาศด้านในร้านนั้น ถูกตกแต่งให้เข้ากับบรรยากาศของท้องทุ่งนา มีตะกร้าข้าวไว้สำหรับตากข้าวประดับตกแต่งไปทั่ว บรรยากาศของร้านร่มรื่นมาก มีต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่ม มองเห็นทุ่งนาไกลๆสบายตามากทีเดียว!
เราไม่รีรอที่จะแวะเข้ามาเก็บภาพท้องทุ่งนากันก่อนเลย ซึ่งที่นี่เขาทำนากันจริงๆนะ เขาปลูกข้าวไว้กินกันเอง ทั้งข้าวไทย ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็มีหมด ที่สำคัญเป็นข้าวแบบออร์แกนิคด้วยนะสุดยอดไปเลย!
จุดเด่นของคาเฟ่ ดี มีนา นั้น ร้านเขาจะมีสะพานทอดยาวลงไปในท้องทุ่งนาด้วย ซึ่งสะพานแห่งนี้จะทำด้วยไม้ และไม่ได้ทำไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาถ่ายรูปเท่านั้น สะพานนี้เขายังทำขึ้นเพื่อเอาไว้โยนกล้าข้าวลงไปในนาเวลาดำนาอีกด้วย เป็นการประยุกต์วิถีชีวิตการทำนาให้เข้ากับบรรยากาศของร้านคาเฟ่ได้เป็นอย่างดี!
สะพานไม้นี้ค่อนข้างยาวมากๆ เราสามารถเดินไปถ่ายรูปกันได้ เราแนะนำว่าที่ปลายสุดของสะพานไม้นั้นวิวจะสวยมาก หากใครไม่เหนื่อยให้ลองเดินไปถ่ายรูปกันดู!
พอเก็บภาพได้ที่ก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน ที่นี่เขาเสิร์ฟอาหารกลางวันด้วยปิ่นโต ซึ่งเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครเลย โดยเซ็ตอาหารกลางวันแบบปิ่นโตนี้ราคาไม่แพงเลย ทางร้านเขาจัดเตรียมไว้ให้เป็นเช็ตอยู่แล้ว เรามาถึงก็แค่เลือกขนาดถาดกับปิ่นโตและก็เมนูอาหารเท่านั้น
เราช่วยกันแกะปิ่นโตออก เมนูอาหารมื้อนี้มี แกงป่าไก่บ้าน ตำแตงไข่ต้ม ฟักแม้วผัดไข่ และแจ่วปลานิล ซึ่งขอบอกว่าเมนูแจ่วนี้อร่อยมากๆ สำหรับข้าวเขาก็เอามาจากทุ่งนาเขานี่แหละ มีข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสีใบเตย ขมิ้น และอัญชัญ สีสวยงามมากๆ เราแนะนำว่าให้ลองชิมข้าวดูทุกชนิดเลย เพราะมันอร่อยแตกต่างกันไป และสำหรับเมนูเครื่องดื่มที่เราสั่งนั้น ก็มีน้ำตะไคร้กับน้ำอัญชัญมะนาว ใส่น้ำแข็งกินเย็นๆแล้วหอมชื่นใจมากทีเดียว!
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของ ร้านคาเฟ่ ดี มีนา ได้ที่ Facebook fanpage คาเฟ่ ดี มีนา … คลิกที่นี่
4) วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง (วัดพระกริ่งปวเรศ) – ที่เที่ยวเลย
วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมืองหรือวัดพระกริ่งปวเรศ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา สัมผัสแรกเมื่อเราก้าวลงจากรถคือที่นี่อากาศเย็นมาก เหมือนช่วงฤดูหนาวที่เขาค้อเลย แม้ช่วงกลางจะมีแดดที่ร้อนมาก แต่ภายในวัดนั้นมีลมพัดเย็นสบาย ดีเลิศมากจริงๆ
วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมืองหรือวัดพระกริ่งปวเรศนั้น ตั้งอยู่ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ด้วยความที่วัดตั้งอยู่บนเนินเขา ทางขึ้นวัดนั้นมันจะชันหน่อย วัดนี้เป็นวัดไม้สักทั้งหลัง มีความโดดเด่นในเรื่องของการออกแบบตัวอาคาร ที่สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และงานประติมากรรมต่างๆนั้น มีความละเอียดเป็นอย่างมาก!
ตัวโบสถ์วิหารนั้น ถูกสร้างด้วยไม้สักที่ถูกนำมาแกะสลักไว้อย่างวิจิตรบรรจงทั้งหลัง ซึ่งมีความละเอียดมากจริงๆ และสวยงามมากด้วย
ด้วยความที่วัดนั้นตั้งอยู่บนเนินเขา วัดจึงมีทางขึ้น 2 ทาง คือ สามารถขับรถขึ้นมาจอดด้านบนวัดได้เลย หรือ ให้จอดรถไว้ด้านล่างและเดินขึ้นบันไดมาก็ได้เหมือนกัน สำหรับฝั่งด้านนี้คือทางขึ้นด้านหน้าวัด เดินขึ้นบันไดเล็กน้อยก็ถึงตัวโบสถ์ล่ะ ที่สำคัญมีรูปปั้นพญานาคหน้าวัดที่สวยงามมากอีกด้วย!
เราเดินเข้ามาดูภายในของโบสถ์วิหารกันบ้างดีกว่า ด้านในนั้นจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปพระพุทธเจ้าไภสัชยาคุรุไวฑูรยประภาจอมแพทย์หรือพระกริ่งปวเรศนั่นเอง ซึ่งมีความสวยงามมากทีเดียว!
อย่างที่บอกว่าวัดนี้ตั้งอยู่บนหุบเขา เมื่อเดินออกมาจากตัวโบสถ์วิหารก็จะเจอบรรยากาศโดยรอบที่สวยงามมาก มองเห็นภูเขาไกลสุดลูกหูลูกตาโน้น วิวสวยมากจริงๆ
5) แก่งคุดคู้ – ที่เที่ยวเลย
เมื่อทุกคนอิ่มบุญกันถ้วนหน้า ก็ออกเดินทางไปแก่งคุดคู้กันต่อเลย ซึ่งระยะทางจากวัดพระกริ่งฯมาที่แก่งคุดคู้นั้นค่อนข้างไกลมากพอสมควร เรางีบหลับได้ 2-3 งีบเลยล่ะ!
แก่งคุดคู้ อยู่ห่างจากตัว อ.เชียงคาน ประมาณ 3 กม. ถือเป็นแก่งที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย แก่งแห่งนี้เกิดจากการทอดตัวของแนวหินลงไปในแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยหินก้อนเล็กๆใหญ่ๆเป็นจำนวนมาก จากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสันที่สวยงามนั่นเอง โดยบริเวณนี้เราจะสามารถมองเห็น จุดหักเลี้ยวของแม่น้ำโขงที่คุดคู้ไปมา จึงตั้งชื่อแก่งแห่งนี้ว่า แก่งคุดคู้ ตามลักษณะที่กล่าวไปนั้น!
จุดหักเลี้ยวของแม่น้ำโขงที่เราว่านั้นน้ำจะไหลแรงมาก เรามาครั้งนี้เป็นช่วงฤดูฝนซึ่งจะมีน้ำมากแล้ว เราจึงมองไม่เห็นก้อนหินและหาดทรายในแม่น้ำโขง ที่จริงแล้วช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะชมแก่งคุดคู้ก็คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมนั่นเอง ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำแห้ง สามารถมองเห็นเกาะแก่งต่างๆได้อย่างชัดเจน และยังสามารถเดินลงไปเพื่อสัมผัสบรรยากาศของริมน้ำโขงได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย โดยบริเวณนี้จะเป็นหาดทรายกว้างและมีหินก้อนกลมเงาเรียงรายกันนับร้อยนับพันก้อน
แม้ว่าเรามาครั้งนี้จะไม่เห็นหาดทรายและก้อนหินกรวดเหล่านั้น แต่เราก็ยังสามารถมองเห็นจุดคุดคู้ของแม่น้ำโขงที่มีภูควายเงินตั้งตระหง่านอยู่เป็นฉากหลังสวยงาม หรือหากใครอยากนั่งเรือชมวิวสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่นี่ก็มีกิจกรรมให้ล่องเรือหางยาวชมทิวทัศน์สองฝั่งไทย-ลาวอีกด้วย
เราไปหาประวัติมาเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ ตาจึ่งขึ่งดังแดง แกมาตามล่าควายเงินที่มาจากฝั่งลาว แกเฝ้ามองจนกระทั่งควายเงินมานอนแช่น้ำอยู่ที่แก่งคุดคู้ในปัจจุบัน ระหว่างที่แกยกหน้าไม้หมายจะยิง บังเอิญมีพ่อค้าขับเรือผ่านมาพอดี ทำให้ควายเงินตื่นตกใจวิ่งหนีขึ้นไปบนภูเขา ภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ภูควายเงิน” นั่นเอง เหตุการณ์นี้ทำให้พรานป่าแค้นเคืองคนที่นั่งเรือไปมาตามแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก จึงได้แบกเอาก้อนหินมาถมกั้นแม่น้ำไว้ จนสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านในละแวกนั้นไปทั่ว เมื่อพระอินทร์ที่อยู่บนสวรรค์เห็นดังนั้น ก็แปลงกายลงมาเป็นเณรน้อยและได้ออกอุบายให้พรานป่าใช้ไม้ไผ่หรือไม้เฮี้ยะทำเป็นคานแบกก้อนหินไว้ แต่ด้วยน้ำหนักของหินที่มากเกินไปเลยทำให้ไม้คานหักบาดคอตาจึ่งขึ่งดังแดงตายอยู่ในท่าคุดคู้ แก่งแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “แก่งคุดคู้” ตามนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้นี่เอง!
6) โรงแรม With A View Hotel เชียงคาน – ที่พัก จ.เลย
เราอยู่แก่งคุดคู้กันอยู่นาน แอบซื้อกุ้งทอดกับมะพร้าวแก้วมากินด้วย อร่อยสมคำร่ำรือมาก หลังจากนั้นเราก็รีบขับรถกันมาต่อที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อเข้า Check in โรงแรม With A View Hotel เชียงคาน ที่เราได้จองไว้
ด้านหน้าที่พักของเราจะเป็นร้านกาแฟ มีกาแฟให้เลือกเยอะมากเลย เราสั่งคาปูชิโน่เย็นมากินแก้วหนึ่ง รสชาติอร่อย หอมกลมกล่อมมากเชียว!
บรรยากาศภายในที่พักของเรานั้นจะถูกตกแต่งให้เป็นสไตล์ลอฟท์ทั้งหมด โดยจะใช้ไม้สีน้ำตาลเป็นหลัก ตัดกับการตกแต่งโลหะต่างๆที่เป็นสีดำ เช่น บันไดวนขึ้นชั้น 2 และมีการติดประดับตกแต่งดอกไม้แห้งสีต่างๆคละเคล้ากันไปอีกด้วย!
ห้องพักของที่นี่จะเปิดให้บริการทั้งบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 มีทั้งห้องพักเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ บางห้องนอนสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำโขงได้สวยงามมาก อีกทั้งบางห้องยังมีระเบียงออกไปชมวิวแม่น้ำโขงอีกด้วย!
เราพามาดูบริเวณห้องน้ำภายในห้องพักกันบ้าง อ่างล้างหน้าในห้องน้ำนั้นค่อนข้างสวยมาก เข้ากับการตกแต่งห้องด้วยไม้เป็นอย่างที่สุด! อีกทั้งประตูห้องน้ำของที่นี่ เขาจะล็อคด้วยกลอนไม้ด้วยนะ เป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อนมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว นึกถึงสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วเลยอ่ะ!
เราเดินออกมาบริเวณด้านหลังของที่พักเราบ้าง ที่พักเราจะติดกับแม่น้ำโขงเลย ด้านหลังที่พักเขาจึงทำเป็นที่นั่งทานอาหาร ทั้งโต๊ะและบาร์ ได้บรรยากาศสุดๆ อีกทั้งยังมีทางเดินชมวิวตลอดความยาวของแม่น้ำโขงอีกด้วย!
นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีโต๊ะโซฟาไว้ให้บริการสำหรับลูกค้าที่เข้าพัก ให้ได้นั่งเล่นและพักผ่อนอีกด้วย นอกจากนั้นบริเวณนี้ยังสามารถซื้อกาแฟจากทางด้านหน้าร้านมาทานได้ด้วย หากเป็นช่วงเช้า ที่นี่จะเป็นบริเวณทานอาหารเช้าของโรงแรมนั่นเอง!
อาหารเช้าของที่นี่มีให้สั่งมากมาย เช่น ไข่ ไส้กรอก แฮม หรือ ข้าวต้มหมูไข่ยางมะตูม เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นที่นี่ยังมี ขนมปังทาแยม และที่เราชอบมากที่สุดก็คือ ปาท่องโก๋ ไว้ให้เรากินคู่กันกับน้ำชา กาแฟ และโอวัลติน อีกด้วย!
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของ โรงแรม With A View Hotel เชียงคาน ได้ที่ เว็ปไซค์ของโรงแรมโดยตรง … คลิกที่นี่
7) เฮือนหลวงพระบาง – ร้านอาหาร จ.เลย
ไม่ไกลจากที่พักเรา สามารถเดินไปร้านอาหาร เฮือนหลวงพระบาง ได้ ที่นี่จะเป็นร้านอาหารร่วมสมัย ตกแต่งสไตล์ไทยย้อนยุกต์ ซึ่งสวยมากทีเดียว โดยมีอาหารขึ้นชื่อคือ น้ำพริกหลวงพระบาง นั่นเอง
ที่นี่จะเปิดให้บริการบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 โดยบริเวณชั้น 2 นั้น จะสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำโขงที่สวยมากมากๆ อากาศเย็นสบายและสโลว์ไลฟ์เป็นอย่างที่สุด!
พวกเราเริ่มสั่งอาหาร เมนูแรกที่สั่งมานั่นก็คือ น้ำพริกหลวงพระบาง ซึ่งเมนูนี้เป็นเมนูเด็ดของที่นี่เลยก็ว่าได้ เมื่อนำมากินคู่กับหมูทอดแล้วล่ะก็ อร่อยจนหยุดไม่ได้เลยล่ะ จริงๆ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย เมนูผัดถั่วลันเตา ผัดกะหล่ำปลี ปลาส้มทอด ซึ่งปลาส้มที่นี่จะใช้ปลาจ่อมาทำ รสชาตินั้นจะกรุ๊ปๆกรอบๆกำลังดี และก็สุดท้ายก็ต่อด้วยเมนูปลาแม่น้ำโขงคือ ต้มยำปลาคัง ซึ่งเราก็กินกันจนเกลี้ยงหมดทุกเมนู!
บรรยากาศยามเย็นของที่นี่นั้นสวยงามมาก เราแนะนำให้มาทานอาหารกันตอนพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ซึ่งเราจะได้เห็นวิวของท้องฟ้าที่กำลังเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูเหลือง โคตรจะโรแมนติกเลยว่าไหม ?
8) ถนนคนเดินเชียงคาน – ที่เที่ยวเลย
ถนนคนเดินเชียงคาน เป็นถนนเส้นที่เต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าแก่ ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆมากมาย ซึ่งมีระยะทางมากกว่า 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยว นิยมมาปั่นจักรยานชมบรรยากาศช่วงยามเช้าและกลางวัน หรือมาถ่ายรูปเล่น และชมบ้านไม้สมัยเก่าๆ แต่ในช่วงเวลากลางคืนนั้น บ้านไม้เก่าๆเหล่านี้ จะถูกดัดแปลงให้เป็นร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ เป็นต้น ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับเสน่ห์ของเมืองเชียงคาน ที่สวยงามและไม่เหมือนใคร!
9) ตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้า – ที่เที่ยวเลย
บนถนนคนเดินเชียงคาน บริเวณหน้าที่พักของเรานั้น จะมีพระออกมาบิณฑบาตในช่วงเช้า เพื่อให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวต่างๆได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเชียงคานมาตั้งแต่เนิ่นนาน ระยะเวลาตักบาตรนั้น จะเริ่มมีพระออกมารับบิณฑบาตตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 6 โมงครึ่งในทุกวัน บางวันอาจจะมีเลทบ้างไปจนถึง 7 โมงเช้าเลยก็ได้!
ที่พักของเรานั้น จะมีสำรับสำหรับตักบาตรเตรียมไว้ให้ สำรับนี้ราคาไม่แพงแค่ 100 บาทเอง ซึ่งก็จะมีของสำหรับตักบาตรครบทุกอย่าง รวมถึงข้าวเหนียวด้วย!
ตลอด 2 ข้างทางถนนคนเดินเชียงคานนั้น จะมีผู้คนมาทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวกันเป็นจำนวนมาก บางคนใส่บาตรด้วยข้าวเหนียวอย่างเดียว แต่บางคนก็มีขนมนมเนยใส่ไปด้วย หากใครไม่ได้เตรียมข้าวของมาใส่บาตรก็สามารถซื้อสำรับที่เขาจัดเตรียมขายไว้ให้ มีตลอดสองข้างทางถนนคนเดินเลย เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้คนที่นี่ถึงยิ้มแย้มแจ่มใสกันมาก ทุกคนดูอารมณ์ดีมากหลังจากได้ทำบุญตักบาตรกัน ขนาดเรายังรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้ตักบาตรยามเช้าท่ามกลางบรรยากาศที่เรียกได้ว่าดีสุดๆไปเลย!
10) หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ – ที่เที่ยวเลย
หลังจากกินอาหารเช้ากันอิ่ม พวกเราก็ Check out ออกจากโรงแรม และออกเดินทางกันต่อไปที่ หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย
พอเรามาถึงที่นี่ ผู้ใหญ่บ้านก็ออกมาต้อนรับเราและพาเราไปนั่งฟังประวัติความเป็นมาของชาวไทดำ เราพอจับใจความถึงประวัติของชาวไทดำได้คร่าวๆว่า ชาวไทดำที่นี่นั้น เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มหนึ่งที่เคยตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทดำ ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือโน้น เมื่อปี พ.ศ. 2425 สมัยสงครามฮ่อและหลังจากสงครามยุติลง ชาวไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย กลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ “ไทดำ” หรือ “ลาวโซ่ง” จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขต จ.เพชรบุรี และทางภาคกลางของไทย อีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่ จ.เลย นั่นก็คือที่นี่นี่เอง โดยส่วนใหญ่ชาวไทดำที่นี่จะเป็นไทดำชนชั้นราชวงศ์อีกด้วย!
ที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านของชาวไทดำเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ถึงแม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานแล้วกว่า 100 ปีก็ตาม โดยเฉพาะ “ซิ่นนางหาญ” ถือว่าเป็นผ้าทอมือที่เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมากว่า 100 ปีแล้วนั้น จะมีลวดลายที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก!
ที่นี่มีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำนั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณด้วย ใครมาที่นี่อย่าลืมขอชมซิ่นนางหาญกันนะ มีความสวยงามสุดๆเลยล่ะ!
หลังจากผู้ใหญ่บ้านเล่าประวัติความเป็นมาให้เราฟังจนจบ ก็พาเราไปเดินทัวร์ในหมู่บ้านกัน เริ่มต้นจาก แกพาเรามาดู บ้านนก บ้านหนู หรือ ตุ้มนก ตุ้มหนู เชื่อกันว่าใครมีไว้ครอบครองครอบครัวของคนๆนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุขด้วย
และแกก็พาเรามาชมต้นอะไรซักอย่างที่ชาวไทดำทำขึ้น เสียดายที่เราจำชื่อไม่ได้ล่ะ! แต่ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นบ้านนกบ้านหนูด้วย เราว่าคงเป็นสิ่งที่เป็นสิริมงคลสำหรับชาวไทดำอ่ะแหละ!
หลังจากนั้นแกก็พาเราขึ้นรถอีแต๊กไปเที่ยวชมบ้านเรือนของชาวไทดำกัน ซึ่งแกพาพวกเราไปสักการะศาลเจ้าบ้านกันก่อนเลย
แกเล่าว่า ศาลเจ้าบ้าน ก็คือ บรรพบุรุษของเหล่าไทดำนั่นเอง ที่นี่เป็นเหมือนจุดรวมใจของชาวไทดำ หากชาวบ้านคนใดเจ็บป่วยก็จะมาขอให้ท่านช่วยปกป้องคุ้มครอง เราฟังแล้วขนลุกเลย!
เราออกมาจากศาลเจ้าบ้าน รถอีแต๊กก็เริ่มขับผ่านหมู่บ้านชาวไทดำมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบ้านเรือนของชาวไทดำนั้นส่วนใหญ่จะนิยมยกใต้ถุนสูง มีประวัติว่า ภายในบ้านนั้นจะแบ่งออกเป็นห้องๆ ไล่มาตั้งแต่บันไดบ้านด้านหน้าซึ่งจะขึ้นได้แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เมื่อขึ้นไปแล้วห้องแรกจะเป็นห้องของผีเรือน ผีปู่ย่า ที่ชาวไทดำนับถือ ถัดมาจะเป็นห้องโล่งและมีพื้นที่กว้างสุดในบ้าน ใช้สำหรับเป็นห้องนอน โดยในห้องนี้จะมีเตาไฟวางไว้ปลายเท้าของเจ้าบ้านเพื่อให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วย ถัดไปจะเป็นส่วนสุดท้ายของตัวบ้าน นิยมทำเป็นที่ประกอบอาหาร โดยจะมีบันไดที่ใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับผู้หญิงชาวไทดำอีกด้วย! ที่นี่นอกเหนือจากบ้านเรือนของชาวบ้านแล้ว บ้านบางหลังเขายังเปิดเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์กันด้วยนะ เอาเป็นว่าถ้าเทศกาลท่องเที่ยวจริงๆแล้วล่ะก็ ต้องโทรจองล่วงหน้ากันยาวๆเลย เพราะคิวเข้าพักนั้นแน่นเอี๊ยด!
ผู้ใหญ่บ้านพาเรามาถึงชม กลุ่มทอผ้าไทดำ ที่นี่จะมีการสาธิตวิธีการทอผ้าให้เราดูด้วย มีการโชว์ปุยฝ้ายและพันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองอีกด้วย เมื่อเราหยิบมันมาจับดู มันนิ่มมากๆเลยล่ะ!
ที่นี่เขาทอผ้าเองและจำหน่ายผลผลิตเองด้วย ผ้าที่เขาทอกันนั้นล้วนแต่ทอด้วยมือเลยนะ สวยงามหมดทุกชิ้นเลย!
ที่นี่นอกจากจะโชว์วิธีการทอผ้าแบบต่างๆให้ดูแล้ว ยังมีร้านค้าสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชาวไทดำที่ผลิตขึ้นกันเองด้วย โดยด้านในร้านนั้นจะมีผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดมือ รูปภาพต่างๆ เป็นต้น
หลังจากนั้น พวกเราก็กลับมาที่หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำที่เดิม เพื่อรับชมการแสดงของชาวไทดำนั่นเอง การแสดงของชาวไทดำนั้น พวกเขาใช้ปล้องไม้ไผ่เป็นเครื่องเคาะจังหวะ มีผู้ใหญ่บ้านตีกระถางกลองให้จังหวะอีกด้วย
พวกเขาแสดงได้แบบน่ารักมากๆ เริ่มจากท่าโบกมือทักทายกัน หลังจากนั้นก็เต้นกันเป็นคู่ๆสุดท้ายก็มาจบที่ท่าโบกมืออำลา น่ารักจริงๆนะ ที่จริงแต่ละท่ามันมีชื่อและมีความหมายนะ แต่เราจำไม่ได้แล้ว ข้อมูลมันเยอะมากเหลือเกิน! แฮ่ๆ
หลังจากการแสดงจบ ภรรยาผู้ใหญ่บ้านก็ติดหัวใจไทดำให้พวกเราคนละ 1 ดวง หัวใจไทยดำเขามีประวัติด้วยนะ น่ารักมากเลย ภรรยาแกบอกว่า คนเราปกติจะมีหัวใจทั้งหมด 4 ห้อง แต่หัวใจไทดำนั้นมักจะมีแค่ 3 ห้องเท่านั้น เพราะอีกห้องหนึ่งจะอยู่ที่ตัวคนที่มาเยี่ยมเยียนนั่นเอง หากรวมกันก็จะครบ 4 ห้องพอดี วันไหนที่เราคิดถึงหัวใจไทดำ ก็ให้คิดถึงหัวใจ 3 ห้องที่ชาวบ้านช่วยกันติดให้นี่แหละ ซึ้งมากๆเลยอ่ะ!
ก่อนกลับ ผู้ใหญ่บ้านใจดีเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเราด้วย อาหารมื้อนี้มี จุ๊บผักไทดำ ต้มยำปลานิล และก็ไข่เจียว เราลองตักจุ๊บผักมากินก่อนเลยเพราะมันแปลกสุดแล้วอ่ะ อารมณ์เหมือนเรากินแกงอ่อมของภาคอีสานแบบน้ำแห้งเลย ว่าไปว่ามามันก็อร่อยไปอีกแบบนะ! หลังจากนั้นไม่นานก็มีส้มตำมาเพิ่มให้ รสชาติจะออกเค็มนิดหน่อย ไม่เผ็ดมาก เราซัดไปหลายคำเลยล่ะ ภรรยาผู้ใหญ่บ้านแกใจดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสคุยเล่นกับพวกเราแบบเป็นกันเองสุดๆ เราประทับใจแกมากเลย แกคอยเติมอาหารให้พวกเราแบบไม่ขาดสายจนเราอิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า!
หากเพื่อนๆอยากดูรีวิวทั้งหมดเกี่ยวกับ ที่เที่ยว (ประเทศไทย) ของ ไป กัน มา ยัง แล้วล่ะก็ … คลิกที่นี่